SEO คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจในยุค IT SEO หรือ Search Engine Optimization คือหนึ่งในวิธีการที่จะมาช่วยให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับในหน้าแรกของ search engine หรือโปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ต (ตัวอย่างเช่น Google Yahoo หรือ ฺBing ) ในการขายของหน้าร้านต้องปรับเปลี่ยนชั้นวางสินค้าหรือจัดทำป้ายหน้าร้านให้โดดเด่นสะดุดตาอยู่เสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการดึงดูดความสนใจของลูกค้า แต่ในยุคที่สินค้าและผลิตภัณฑ์ย้ายจากตลาดออฟไลน์ไปสู่ตลาดออนไลน์ ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการทำการตลาดในยุคดิจิทัล การทำให้เว็บไซต์ติดอันดับในหน้าแรกของการค้นหาของ search engine จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นหน้าร้านได้เป็นอันดับต้นๆ และหยิบซื้อสินค้าได้โดยง่าย หรืออาจกล่าวได้ว่า SEO คือกุญแจที่จะไขไปสู่เป้าหมายในการทำให้ลูกค้าพบเห็นร้านค้าหรือธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้น
SEO คืออะไร
ก่อนจะเข้าใจว่าความหมายของ SEO หรือ Search Engine Optimization ต้องทำความเข้าใจกับระบบการทำงานของ google ก่อน Google จะมี algorithm หรือชุดของคำสั่งที่สร้างไว้ตามขั้นตอนในการคัดเลือกเว็บไซต์มาขึ้นแสดงผล ยิ่งเว็บไซต์ไหนตรงกับเกณฑ์ของ google ที่กำหนดไว้ที่สุดและ google เห็นว่ามีประโยชน์ต่อคนที่เข้ามาทำการค้นหาเว็บไซต์นั้นๆ ก็จะเป็นที่โปรดปรานของ google และ google จะดึงเว็บไซต์เหล่านั้นไปแสดงผลในหน้า search หน้าแรก
SEO จึงเหมือนการเปลี่ยนตำแหน่งของเว็บไซต์จากลูกชังอันดับรั้งท้ายให้กลายเป็นลูกรักของ google โดยการปรับแต่งเว็บไซต์ให้เป็นไปตามข้อกำหนด algorithm ของ google เพื่อให้ google รู้จักเว็บไซต์คุณและดึงเว็บไซต์คุณไปติดอันดับยังหน้าแรกนั่นเอง เพื่อให้ผู้คนที่กำลังค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พบเห็นเว็บไซต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อเข้าใจแล้วว่า SEO คืออะไร ลำดับต่อไปคือ SEO สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ
หลังจากเข้าใจความหมายของ SEO แล้ว การเข้าใจต่อความสำคัญที่ SEO มีต่อธุรกิจ หรือการตลาดประเภทนี้มีประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไรบ้าง จะเป็นการลับคมอาวุธของนักการตลาด เมื่อเข้าใจในพื้นฐานของการทำการตลาดผ่าน SEO มากขึ้น ก็จะสามารถหยิบจับอาวุธชิ้นนี้ขึ้นมาในสถานการณ์ที่เหมาะสมเพื่อจะเข้าถึงลูกค้าให้ไวและพิชิตใจลูกค้าได้ก่อนคู่แข่ง
1.โอกาสสร้างยอดขายได้มาจากการมองเห็น
การที่เว็บไซต์คุณติดอันดับหน้าแรกใน search engine สัมพันธ์อย่างไรกับการขายสินค้า คำตอบคือยิ่งเว็บไซต์แสดงผลในตำแหน่งที่สูงขึ้นอัตราการคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ก็จะยิ่งสูงขึ้น จากสถิติที่ได้จากทาง Google เมื่อมีการค้นหาคำใดๆ ใน google คนเราจะดูเนื้อหาเฉพาะเว็บไซต์ที่แสดงในหน้าแรกอยู่ที่ 90% โดยที่ยิ่งอันดับสูงเท่าไหร่ก็มีโอกาสในการได้รับการคลิกเข้าไปดูมากเท่านั้น อย่างเว็บที่ติดอันดับ 1 – 3 ในหน้าแรกจะมีโอกาสถูกคลิกเข้าไปดูอย่างน้อย 50% อาจฟังดูเป็นเรื่องของผลทางจิตใจ เพราะว่าคนเรามักจะเลือกคลิกและมีความเชื่อถือหรือมั่นใจในเว็บไซต์ที่แสดงผลขึ้นมาเป็นอันดับแรก และเมื่อมีคนเห็นมากเท่าไหร่ อัตราคลิกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้
2.ประหยัดงบโฆษณา
การทำ SEO จะช่วยในการประหยัดงบโฆษณาเพราะการทำ SEO นั้นไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาให้ google ซึ่งจะต่างจากการจ่ายเงินเพื่อมีพื้นที่โฆษณาบน google หรือการทำ google ads โดยการจ่ายเงินนี้แลกมากับการทำให้เว็บไซต์คุณปรากฏขึ้นในหน้าแรกหรือหน้าที่สองในบริเวณที่เขียนชัดเจนว่า sponsors หรือ ads ไม่ว่าจะอยู่ด้านบน หรือด้านล่างอันดับต้นๆ ใน google แต่การเสียเงินที่แลกมาด้วยโฆษณานี้ก็ไม่ได้ยั่งยืน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่ได้จ่ายค่าโฆษณาอันดับเว็บไซต์ก็อาจจะร่วงไปอยู่หน้าอื่นๆ ได้ทันที แต่การทำ SEO แม้ต้องอาศัยเวลาเพื่อให้ติดอันดับ แต่เมื่อเว็บไซต์คุณติดอันดับแล้วโอกาสที่จะอยู่บนหน้าแรกจะอยู่ได้ยาวนานและต่อเนื่องกว่า
3.ผลทางจิตใจโดยใช้เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือ
ไม่ควรลืมว่าการที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าหรือบริการใดสักอย่างไม่ได้อาศัยเพียงแค่ตรรกะและเหตุผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อมั่นที่มีต่อสินค้านั้นด้วย ซึ่งการที่เว็บไซต์อันเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของ search engine จะยิ่งกระตุ้นให้รู้สึกได้ว่าสินค้าเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือ google ถึงเลือกแสดงผลให้มาอยู่อันดับแรกๆ
SEO จึงเป็นกระบวนการแรก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างการรับรู้และการมีอยู่ของสินค้าและบริการ เรียกได้ว่าถ้าเริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง หรือแม้แต่สินค้าและบริการที่ติดตลาดแล้ว แต่ต้องการขยายฐานลูกค้า หรือเพิ่มวอลลุ่มการซื้อขายให้มากขึ้นไปอีก การสื่อสารสินค้าและบริการไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายผ่านช่องทางการค้นหาในหน้าแรกของ google ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างโอกาสกระตุ้นและเพิ่มยอดขายได้ อีกทั้งยังประหยัดงบประชาสัมพันธ์ และยังสร้างความน่าเชื่อถือต่อสินค้าและบริการได้อีกด้วย