Site icon GOT ITZ COMPANY

การตลาดเพื่อสังคม การตลาดแนวใหม่ที่ควรรู้

การตลาดเพื่อสังคม การตลาดแนวใหม่ที่ควรรู้

การตลาดเพื่อสังคมเป็นกระบวนการที่ใช้หลักการและเทคนิคทางการตลาดเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในโดยการส่งเสริมความดีของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสุขภาวะที่ดี เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า และความยุติธรรมทางสังคม

ความแตกต่างระหว่างการตลาดเพื่อสังคม และการตลาดแบบดั้งเดิม

การตลาดแบบดั้งเดิมจะมีที่มุ่งหมายในการส่งเสริมสินค้าและบริการเพื่อสร้างยอดขาย และผลกำไรให้แก่องค์กร ส่วนการตลาดเพื่อสังคมนั้นมุ่งเน้นที่การส่งเสริมพฤติกรรมหรือทัศนคติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตัวอย่างของแคมเปญการตลาดเพื่อสังคม ได้แก่ แคมเปญต่อต้านการสูบบุหรี่ แคมเปญเมาไม่ขับ และแคมเปญเพื่อส่งเสริมการใช้ซ้ำของพลาสติก (Recycle)

แล้วการตลาดเพื่อสังคม กิจการเพื่อสังคม และ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มีความแตกต่างกันอย่างไร

ถึงชื่อจะคล้าย แต่ 3 อย่างนี้เป็นคนละเรื่องกันเลยค่ะ

การตลาดเพื่อสังคม

การตลาดเพื่อสังคมเน้นการสร้างแคมเปญ มีกระบวนการที่ใช้หลักการและเทคนิคทางการตลาดเพื่อส่งเสริมสังคมที่ดี เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคล หรือกลุ่มสังคมของแคมเปญในเชิงบวก ใช้เทคนิคการวางแผนการตลาดเพื่อให้เข้าถึง และสร้างผลกระทบ

โดยส่วนใหญ่แล้วองค์กรที่ทำการตลาดเพื่อสังคมนั้นจะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรของรัฐ ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกระหว่างบุคคลหรือชุมชน ส่วนการตลาดเพื่อสังคมขององค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่จัดทำขึ้นนั้น ส่วนมากมักจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำ CSR

ตัวอย่างแคมเปญการตลาดเพื่อสังคม อาทิ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การใช้ซ้ำของสินค้า (Reuse) และการรักษาสิ่งของสาธารณะ

กิจการเพื่อสังคม

เป็นรูปแบบธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการสร้างรายได้ กิจการเพื่อสังคมมักเป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีพันธกิจเพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลัก กิจการเพื่อสังคมอาจจะใช้การตลาดเพื่อสังคมหรือการตลาดแบบดั้งเดิมก็ได้ เพื่อให้บรรลุผลทางการตลาดที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ นอกจากนั้นกิจการเพื่อสังคมส่วนใหญ่จะนำกำไรบางส่วนเป็นทุนในการริเริ่มเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

แม้ว่าการตลาดเพื่อสังคมและกิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมความดีเพื่อสังคม แต่ต่างกันในแง่ของวิธีการ โครงสร้างองค์กร และรูปแบบธุรกิจ การตลาดเพื่อสังคมมักเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผ่านแคมเปญการตลาด ในขณะที่กิจการเพื่อสังคมเกี่ยวข้องกับการสร้างกระแสรายได้ที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) เป็นแนวคิดที่กว้างกว่าการตลาดเพื่อสังคม โดย CSR จะหมายถึงความรับผิดชอบของบริษัทในการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการทำกำไร ซึ่งอาจรวมถึงการดำเนินการต่างๆ เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน การสนับสนุนความคิดริเริ่มของชุมชน หรือการส่งเสริมการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างมีจริยธรรม

CSR นั้นสามารถเป็นแผนงานขององค์กรได้ทุกขนาด แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเห็นแคมเปญ CSR จากองค์กรมหาชน เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่องค์กรมหาชนต้องทำในทุกปี

สรุปการตลาดเพื่อสังคม

การตลาดเพื่อสังคม ก็เป็นตามชื่อ คือ การตลาดที่ทำเพื่อสังคม จุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมนั้น ๆ ให้เป็นไปในเชิงบวก โดยองค์กรที่นำการตลาดเพื่อสังคมมาใช้ส่วนมากจะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หน่วยงานรัฐบาล หรือการทำ CSR ขององค์กรเอกชน ส่วนกิจการเพื่อสังคม และความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นลักษณะการดำเนินกิจกรรมซึ่งอาจจะนำแนวคิดการตลาดเพื่อสังคมไปใช้ในการวางแผนแคมเปญได้

Exit mobile version